วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

นโยบาย 3 ดี (3 D) ในสถานศึกษา

นโยบาย 3 ดี (3 D) ในสถานศึกษา



กรอบแนวคิด 
                การจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน กระบวนการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์จึงเปรียบเสมือนเหรียญสองด้านคือ ด้านหนึ่งเป็นการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์มีทักษะการดำรงชีวิตที่เกิดจากการฝึกหัด สามารถใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ ในการพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพอีกด้านหนึ่งคือเป็นการบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝังและปลุกจิตสำนึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ขึ้นในจิตใจ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถ ดำรงตน อยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข สถานศึกษาทุกระดับ ทุกสังกัด และหน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและร่วมจัดการศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสม โดยการประสานความร่วมมือกับ ทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นภารกิจทั้ง 3 ด้าน (3D) ได้แก่ ด้านประชาธิปไตย (Democracy) ด้านคุณธรรมจริยธรรม และความเป็นไทย (Decency) และด้าน
ภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug - Free)

ด้านประชาธิปไตย (Democracy)
                มีความตระหนัก เห็นความสำคัญ ศรัทธา และเชื่อมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งรังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง
ด้านคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นไทย (Decency) 
                มีคุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม รู้ผิดชอบชั่วดี มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และยึดถือปฏิบัติอยู่ในวิถีชีวิต
ด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug - Free) 
                รู้จักหลีกเลี่ยงห่างไกลยาเสพติด หมายความว่า สารเคมีหรือวัตถุชนิดใด ๆ  ที่เสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใด ๆ  แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่นต้องการเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยา เมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง ตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไป จะทรุดโทรมลง ซึ่งยาเสพติดนี้  อาจรวมถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย




ยุทธศาสตร์ "5 รั้วป้องกัน"
                คือยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มุ่งสร้างกิจกรรม สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างกระบวนการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและประชาชนอย่างครบวงจรเพื่อป้องกันจุดอ่อนและสร้างเกราะป้องกันที่สกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดรุกล้ำเข้ามา

รั้วชายแดน:
          ยาเสพติดส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตมาจากตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านภารกิจในการป้องกันปัญหายาเสพติดจะมีกองบัญชาการกองทัพไทย กอ.รมน.กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการสกัดกั้นและปลุกพลังชุมชนตามแนวชายแดนมาเป็นแนวร่วมสำคัญเพื่อป้องกันยาเสพติดไม่ให้แทรกซึมเข้ามา

รั้วชุมชน:
          หมู่บ้านและชุมชนที่เข้มแข็งย่อมช่วยในการแก้ปัญหายาเสพติดทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ชุมชนด้วยการสนับสนุน การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่างๆ โดยกระทรวงมหาดไทย กอ.รมน. สำนักงาน ป.ป.ส. มีบทบาทสำคัญที่จะประสานความร่วมมือกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และ อสม.ในการสร้างรั้วให้กับชุมชนเพื่อป้องกันภัยยาเสพติด

รั้วสังคม
          เป้าหมายมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน ภารกิจสำคัญคือ การจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการ ดำเนินการขยายพื้นที่และกิจกรรมเชิงบวกแก่เยาวชนให้มากขึ้น อาทิ ลานกีฬา ลานดนตรี ลานกิจกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ เพื่อดึงเยาวชนออกมาให้ไกลจากยาเสพติด ภารกิจนี้ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างรั้วส่วนนี้

รั้วโรงเรียน
          การมีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นที่มาของพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น หนีเรียน มั่วสุม ก้าวร้าว เสพยาเสพติด ฯลฯ การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงของเยาวชนจึงมุ่งเน้นไปที่สถานศึกษาทุกระดับภารกิจนี้มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยหลักในการสำรวจและจัดทำข้อมูลและค้นหาผู้เสพ/ผู้ค้า/เยาวชนกลุ่มเสี่ยง โดยมีครูเป็นกลไกสำคัญที่จะอบรมและปลูกฝัง รวมทั้งดูแลสอดส่องพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในสถานศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนด้วยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในสถานศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนเหล่านี้

 รั้วครอบครัว:
          ครอบครัวที่เข้มแข็งย่อมส่งผลต่อพื้นฐานความเข้มแข็งของประเทศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักที่จะเข้ามาส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน จัดอบรมให้ความรู้ในการป้องกันยาเสพติด เพื่อทำให้ความเข้มแข็งของครอบครัวในชุมชน จัดอบรมให้ความรู้ในการป้องกันยาเสพติด เพื่อทำให้ความเข้มแข็งของครอบครัวกลับคืนมาเป็นหน่วยทางสังคมที่มีความพร้อมในการดูแลสมาชิกในครอบครัวอย่างแท้จริง



          "ปัญหายาเสพติดในปัจจุบันยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงและศักยภาพการพัฒนาของประเทศ กระทรวงมหาดไทยจึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไป โดยได้กำหนดกระบวนงานในการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย การอำนวยการโดยเสริมสร้างสมรรถนะ สร้างกระแสต่อต้านยาเสพติดตรวจสอบข้อมูลผู้เกี่ยวข้อง โดยการประชาคมวิธีลับ การปราบปราม โดยสนับสนุนการหาข่าว การจับกุมดำเนินคดี รวมทั้งเสริมสร้างบทบาทของเจ้าพนักงาน ฝ่ายปกครองและอาสาสมัครต่างๆ การบำบัดฟื้นฟูโดยนำผู้เสพ ผู้ติด เข้ารับการบำบัดรักษาเน้นการใช้ใช้ชุมชนบำบัดโดยสถาบันศาสนาเพื่อฟื้นฟูด้านจิตใจและอาชีพ ประการสุดท้ายคือการป้องกัน ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนและสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดสัมฤทธิผลได้อย่างแท้จริง"    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น